ข่าวประชาสัมพันธ์
อินโดรามา เวนเจอร์ส ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ประกาศความสำเร็จ “โครงการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ปี 2”
กรุงเทพมหานคร – 12 พฤศจิกายน 2567 – บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกาศความสำเร็จของ “โครงการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ปีที่ 2” โดยร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ที่มุ่งส่งเสริมความรู้และความตระหนักด้านการจัดการขยะในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่งเสริมให้นักเรียน ครู และชุมชนในกรุงเทพฯ เข้าใจหลักการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลพลาสติก PET โดยโครงการนี้บรรลุเป้าหมายการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ผ่านกิจกรรมสำคัญและเข้าถึงผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 21,500 คน ในปี 2566-2567
ในพิธีปิดโครงการ ได้มีการมอบรางวัลโรงเรียนต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกให้แก่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่มีการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนปีที่ 2 จำนวน 108 โรงเรียน โดยแบ่งเป็นรางวัลใน 3 ระดับ ได้แก่ รางวัลระดับดีเยี่ยม 29 โรงเรียน รางวัลระดับดี 31 โรงเรียน และรางวัลผ่านเกณฑ์ 48 โรงเรียน นอกจากนี้ ยังมอบรางวัลครูต้นแบบ 20 คน และเยาวชนต้นแบบ 24 คน ซึ่งรางวัลเหล่านี้สะท้อนถึงความสำเร็จของโครงการในการสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนในสถานศึกษา
สำหรับรางวัลดังกล่าว มาจากการพิจารณาการมีส่วนร่วม ที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่มีนัยยะสำคัญด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการพลาสติก PET อย่างยั่งยืน ได้แก่
- กิจกรรมที่ 1 โรดโชว์ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะและการรีไซเคิล PET แก่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 100 แห่ง โดยมีครูและนักเรียนที่ได้รับการอบรมจำนวน 9,898 คน เพื่อให้นักเรียนได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและความสำคัญของการจัดการขยะประเภทต่างๆ อย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง และสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้จริง
- กิจกรรมที่ 2 พัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้สำหรับครู จัดทำร่วมกับครูระดับชำนาญการพร้อมทั้งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อประยุกต์ใช้ในการสร้างการเรียนรู้เรื่องการจัดการพลาสติกเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนและยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียนใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียน โดยจัดทำคู่มือ 9 เล่ม สำหรับชั้นเรียน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ป.1-ป.3 ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ป.4-ป.6 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-ม.3
- กิจกรรมที่ 3 ค่ายเยาวชนต้นแบบบริหารจัดการพลาสติก (PET Youth Camp) แบบเข้มข้นสำหรับนักเรียนเป็นเวลา 2 วัน โดยมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 40 คน จาก 20 โรงเรียน เป็นกิจกรรมที่ผสมผสานความรู้และกิจกรรมที่สนุกสนาน การสอนทักษะความเป็นผู้นำและการสื่อสารผ่านรูปภาพ การได้ไปเรียนรู้และปฎิบัติที่สถานที่จริงที่ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์จริงทำให้เข้าใจมากขึ้น
- กิจกรรมที่ 4 จัดอบรมครูต้นแบบ (PET Train the Trainer) โดยมีครูจากโรงเรียนสังกัด กทม. เข้าร่วมกิจกรรม 40 คน จาก 20 โรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้ครูมีทักษะความรู้และมีสื่อการสอนที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนและยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียน ซึ่งมีครูจำนวน 20 คน จาก 10 โรงเรียน ที่ผ่านการประเมินเป็นครูต้นแบบ
- กิจกรรมที่ 5 จัดประกวดโรงเรียนต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครปีที่ 2 มีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมประกวด 108 โรงเรียน โรงเรียนระดับดีเยี่ยม 29 โรงเรียน โรงเรียนระดับดี 31 โรงเรียน โรงเรียนระดับผ่าน 48 โรงเรียน ทำให้นักเรียนและสามารถจัดการขยะและคัดแยก PET ได้อย่างถูกต้อง
- กิจกรรมที่ 6 จัดตั้งจุด Drop Point ส่งเสริมการคัดแยกขยะ เพื่อกระตุ้นและสร้างการมีส่วนร่วมทั้งในโรงเรียนและคนในชุมชน ส่งเสริมให้นำ PET กลับสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย มอบอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งจุด Drop Point และประสานงานในการรับซื้อขยะ ให้แก่ 5 โรงเรียนนำร่องได้แก่
- โรงเรียนวัดขุมทอง เขตลาดกระบัง
- โรงเรียนวัดลาดกระบัง เขตลาดกระบัง
- โรงเรียนสุเหร่าทับช้าง เขตประเวศ
- โรงเรียนหัวหมาก เขตสวนหลวง
- โรงเรียนวัดพระยาปลา เขตหนองจอก
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “เรื่องขยะเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจและร่วมกันหาวิธีแก้ไข ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี เราอยากส่งเสริมให้ทั้งคุณครู นักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองของนักเรียน มีความรู้เพื่อจัดการขยะในกรุงเทพฯ ได้อย่างดี เนื่องจากขยะเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบริหารจัดการ ถ้าเราสามารถแยกขยะ จัดการขยะได้อย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ครัวเรือน หรือตามชุมชนต่างๆ ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาได้ กรุงเทพมหานครต้องขอบคุณ อินโดรามา เวนเจอร์ส ที่เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญในการจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และขอขอบคุณศึกษานิเทศก์ คณะครู และคณะทำงาน ที่ร่วมกันจัดการโครงการที่มีคุณค่าอย่างนี้ ขอให้ทุกท่านได้นำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ขยายในโรงเรียนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป”
นางอาราธนา โลเฮีย ชาร์มา รองประธาน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของพลังของการศึกษาในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เรารู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นเยาวชนและนักการศึกษาของกรุงเทพมหานครมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก โดยเน้นความสำคัญของการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยให้การนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายระยะยาวที่จะเสริมสร้างพฤติกรรมที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมและมีการวัดผลที่ชัดเจน”
โครงการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและส่งเสริมการจัดการขยะอย่างมีความรับผิดชอบ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของขวดพลาสติก PET โครงการนี้มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่นักการศึกษา ครู นักเรียน และบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับประเภทของขยะพลาสติกและความสำคัญของการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ อินโดรามา เวนเจอร์สที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้เรื่องการคัดแยกขยะและการรีไซเคิล PET เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่การเปิดตัวโครงการให้ความรู้ด้านการรีไซเคิลครั้งแรกของบริษัทฯ ในปี 2561 และสอดคล้องกับความตั้งใจของอินโดรามา เวนเจอร์สที่มุ่งมั่นให้ความรู้ด้านการรีไซเคิลพลาสติก PET เพื่อเข้าถึงผู้คนจำนวน 1 ล้านคนทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2573