ข่าวประชาสัมพันธ์
อินโดรามา เวนเจอร์ส และ Evertis ผนึกความร่วมมือเพื่อเสริมสร้าง การหมุนเวียนสำหรับถาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจาก PET
กรุงเทพฯ ประเทศไทย - 3 เมษายน 2566 - บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และบริษัท Evertis ผู้บุกเบิกธุรกิจแผ่นฟิล์ม Barrier PET ที่ยั่งยืน ผนึกความร่วมมือในการใช้เกล็ดจากการรีไซเคิลถาดบรรจุภัณฑ์ที่ทำจาก PET เพื่อผลิตแผ่นฟิล์ม PET ที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นถาดบรรจุอาหาร โดยความร่วมมือนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการลดจำนวนถาดอาหาร PET จากการฝังกลบหรือการเผา เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านการรีไซเคิลของสหภาพยุโรป และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับถาดบรรจุภัณฑ์ PET
หลังจากการวิจัยและพัฒนากว่า 6 ปี อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ผลิตเกล็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ในเชิงพาณิชย์ จากถาดอาหารที่ผ่านการใช้งานแล้ว ในโรงงานที่ Verdun ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่ากับเกล็ดพลาสติกที่เกิดจากขวด การพัฒนานี้ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบ closed-loop สำหรับถาดบรรจุภัณฑ์ PET โดยสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้นให้แก่ผู้บริโภค และช่วยให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สามารถบรรลุเป้าหมายในการใช้วัสดุรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ แผ่นฟิล์มยังปกป้องและถนอมอาหาร ช่วยลดขยะอาหารได้ประมาณ 154 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 143 พันล้านยูโรต่อปีทั่วทั้งสหภาพยุโรป1.
มาร์ธา มาธอส กิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนของ Evertis กล่าวว่า “ถาดบรรจุภัณฑ์ PET มีความสำคัญต่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้บริโภค ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้นานขึ้น และลดของเสีย โดยอุตสาหกรรมของเรามีเป้าหมายในการสร้างโซลูชั่นหมุนเวียนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว วิธีการรีไซเคิลที่เป็นนวัตกรรมของอินโดรามา เวนเจอร์ส แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่แท้จริงได้ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความสามารถในการรวบรวม คัดแยก รีไซเคิลถาด PET และแปรรูปสู่การเป็นวัตถุดิบที่มีค่า ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ Evertis สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของเราในแง่ของการหมุนเวียน ความสามารถในการรีไซเคิล และการออกแบบเชิงนิเวศได้ สิ่งสำคัญในตลาดปัจจุบันคือลูกค้าของเราต้องเผชิญกับกฎระเบียบด้านบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ และผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาซื้อ ซึ่ง Evertis สามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งสองอย่างนี้ได้”
ทั้งนี้ โซลูชั่นของอินโดรามา เวนเจอร์ส ช่วยเพิ่มปริมาณวัสดุ PET รีไซเคิลที่หามาได้ทั้งหมด ด้วยขั้นตอนใหม่สำหรับการรีไซเคิลแบบถาดต่อถาด (tray-to-tray) บริษัทฯ ได้ระบุว่าเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบบใหม่นี้มีศักยภาพในการลดจำนวนถาดบรรจุภัณฑ์ PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วมากกว่า 50 ล้านชิ้น จากการฝังกลบหรือการเผาในแต่ละปี2.
ยาช โลเฮีย ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลของอินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า "เราสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ด้วยการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนของกระบวนการ ตั้งแต่การคัดแยกและการรีไซเคิลไปจนถึงการแปรรูป เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพสูงสุด โดย Deja™ (เดจา) แบรนด์เพื่อความยั่งยืนของเรา รวมถึง เม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเก็บรวบรวมพลาสติกและการรีไซเคิลของสหภาพยุโรป”
ความร่วมมือดังกล่าวสนับสนุนเป้าหมายปี 2568 ของ Evertis ในการเพิ่มปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่ผ่านการใช้งานแล้วเป็นร้อยละ 50 ในผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยในปี 2562 บริษัทฯ ได้รับการรับรอง ECOSENSE และต่ออายุในปี 2566 โดยเป็นใบรับรอง RETRAY ซึ่งตรวจสอบวัสดุรีไซเคิลในการผลิตแผ่นฟิล์ม
ในฐานะที่ PET เป็นพลาสติกที่ถูกรีไซเคิลมากที่สุดในโลก PET3 กำลังขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนเนื่องจากคุณสมบัติที่รีไซเคิลได้ ยืดหยุ่น ปลอดภัย และมีน้ำหนักเบา ซึ่งความร่วมมือนี้ช่วยปิดวงจรการรีไซเคิล PET แบบถาดต่อถาด การลดจำนวน PET ที่ถูกส่งไปหลุมฝังกลบหรือถูกเผา และส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน
1 EU wastes more food than it imports, says new report (eeb.org), Feedback-EU-2022-No-Time-To-Waste-report.pdf (feedbackglobal.org)
2 Based on annual capacity.
3 “Baseline report on plastic waste,” UNEP, 2020