ข่าวประชาสัมพันธ์
นวัตกรรมการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ และถุงเพาะพันธุ์พืชจากขยะพลาสติก คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน จัดโดยองค์กรระดับนานาชาติ ร่วมกับอินโดรามา เวนเจอร์ส
กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 18 พฤษภาคม 2564 – โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Innovation Challenge) ประกาศผู้ชนะ ได้แก่ ทีม ‘RECYSO’ และทีม ‘จากขยะสู่ขยะ’ รับเงินรางวัลรวม 2 แสนบาทพร้อมโอกาสพัฒนาผลงานเพื่อแก้ปัญหาขยะ
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และดำเนินธุรกิจรีไซเคิลชั้นนำระดับโลก จัดการประกวดดังกล่าว ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาขยะในประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้นวัตกรรุ่นใหม่พัฒนาทักษะสำหรับการคิดค้นโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้มีผู้ลงทะเบียนรวมถึง 174 ทีม และส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวมถึง 108 โครงการ มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจพอเพียง ทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีม ได้เข้าพูดคุยและรับข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับแต่งและพัฒนาไอเดียให้พร้อมก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ตัดสินจากองค์กรนานาชาติ เกณฑ์การตัดสินนั้นพิจารณาจากคุณสมบัติของนวัตกรรม ซึ่งได้แก่ ความสามารถในการสร้างผลกระทบต่อสังคมในมุมกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นไปได้ในการนำไอเดียไปปฏิบัติจริง และความเป็นเอกลักษณ์ของนวัตกรรม เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ ทีม ‘RECYSO’ ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมการแยกและรีไซเคิลส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ สำหรับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำ และสุขาภิบาล ได้แก่ ทีม ’ขยะสู่ขยะ’ ซึ่งนำเสนอการรีไซเคิลถุงพลาสติกใช้งานแล้ว นำไปผลิตถุงเพาะพันธุ์พืชสำหรับเกษตรกร
นายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เราขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ทีม และรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งส่งเสริมให้นักนวัตกรรมรุ่นใหม่นำแนวคิดของพวกเขามาใช้ในชีวิตจริง สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของไอวีแอลในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน อันเป็นแนวทางที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อย่างขวดที่ทำจาก PET ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจโดยส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เราเชื่อว่านักนวัตกรรมรุ่นใหม่เหล่านี้คืออนาคตของเราที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในเชิงบวก และเราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาของพวกเขา”
Evariste Kouassi Komlan, Regional Water, Sanitation and Hygiene Advisor องค์การยูนิเซฟ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิค กล่าวว่า “เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิ์ในการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย การเข้าถึงน้ำสะอาด ห้องน้ำที่เหมาะสม และหลักปฏิบัติที่ถูกสุขอนามัยจะช่วยให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีความสุขและสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น เราต้องการสนับสนุนนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการน้ำและสุขาภิบาลสำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดค้นโดยคนรุ่นใหม่ เป็นการเสริมสร้างให้คนรุ่นใหม่สามารถจัดการปัญหาเกี่ยวกับน้ำและสุขาภิบาล และร่วมกันสร้างโลกที่เด็กๆ เข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง”
สุกิจ อุทินทุ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ กล่าวว่า “ถือว่า SEAMEO บรรลุเป้าหมายสำคัญในการเชื่อมโยงและผนึกความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในการถ่ายทอดหลักการและคุณค่าของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้ในการทำงานผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเวิร์คช้อปในโครงการครั้งนี้ นอกจากนี้ เราจะพัฒนาและขยายองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในระดับภูมิภาคและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น”
พีท ซิลเวสเตอร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “พวกเรายินดีอย่างมากที่ได้เห็นนวัตกรรุ่นใหม่ กว่า 400 คน มาเข้าร่วมเวิร์คช้อปกับเรา ถึงแม้จะยังอยู่ในช่วงโควิด-19 ก็ตาม ซึ่งเราก็ได้ปรับการประกวดเป็นรูปแบบออนไลน์เช่นกัน เราได้ทำการศึกษาวิจัยที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษาและพบว่า การสร้างกระบวนการให้คำปรึกษา การพัฒนาขีดความสามารถแก่นวัตกร และการสร้างเครือข่ายร่วมกับพันธมิตร ช่วยส่งเสริมกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมสังคมที่เข้มแข็งขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด การสร้างเวทีให้แก่นวัตกรรุ่นใหม่ได้มีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมทำให้เราเห็นศักยภาพที่น่าทึ่งของเยาวชนไทย พลังและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาได้สร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ที่โดดเด่น เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในอนาคต”
อภิญญา สิระนาท Head of Exploration, UNDP Accelerator Labs กล่าวว่า “UNDP เชื่อในพลังของเยาวชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และนั่นทำให้เรามีความยินดีที่ได้เป็นส่วนในโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อถ่ายทอดแนวทางให้คนรุ่นใหม่สามารถนำความรู้ความสามารถและความเป็นผู้นำมาใช้ในการสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะ การจัดการน้ำ และสุขาภิบาล ซึ่งในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่นั้น เราต้องลงทุนเพื่อเยาวชนและร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาทุกคนรู้สึกได้รับการผลักดันและแรงบันดาลใจ เพื่อให้ตระหนักถึงศักยภาพที่เต็มเปี่ยมและคว้าโอกาสที่ดีสำหรับพวกเขา”
ผู้ที่สนใจสามารถรับชมวีดีโอเวิร์คช้อป และการนำเสนอผลงานในโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ที่ https://www.facebook.com/tucircularinnovation/