ข่าวแจ้งสื่อมวลชน
อินโดรามา เวนเจอร์ส รายงานผลประกอบการรายไตรมาสมีเสถียรภาพ ทีมผู้บริหารมุ่งกระตุ้นผลการดำเนินงานท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย
สรุปผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปี 2566
- รายได้จากการขายเท่ากับ 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบปีต่อปี
- EBITDA เท่ากับ 324 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และลดลงร้อยละ 37 เมื่อเทียบปีต่อปี
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเท่ากับ 410 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สัดส่วนหนี้สินจากการดำเนินงานสุทธิต่อทุนเฉลี่ยเท่ากับ 0.97 เท่า
- กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.00 บาท
กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 14 พฤศจิกายน 2566 – บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่มีเสถียรภาพจากการที่ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรักษากระแสเงินสด และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเพื่อกระตุ้นผลการดำเนินงานในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ยังคงอ่อนตัวทั่วโลก
อินโดรามา เวนเจอร์ส มี EBITDA เท่ากับ 324 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และลดลงร้อยละ 37 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะชะงักงันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่องภายหลังการแพร่ระบาด ทั้งนี้ ปริมาณการขายลดลงร้อยละ 5 จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.6 ล้านตัน เนื่องจากการฟื้นตัวของประเทศจีนหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการขยายระยะเวลาในการระบายสต๊อกในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ยังคงปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติจากระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปีที่ผ่านมา
ฝ่ายบริหารยังคงให้ความสำคัญกับการรักษากระแสเงินสด ตระหนักถึงการพัฒนาประสิทธิผล และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในฐานการผลิตของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มผลกำไร ความพยายามเหล่านี้ส่งผลให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวกเท่ากับ 410 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสดังกล่าว โดยมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกจำนวน 79 ล้านเหรียญสหรัฐนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน และเพียงพอสำหรับการลดเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงอันดับเครดิตที่ระดับ AA- พร้อมคงแนวโน้มอันดับเครดิตคงที่จากทริสเรทติ้งในไตรมาสนี้
บริษัทฯ คาดว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 ด้วยสถานการณ์ระบายสต็อกสินค้าของลูกค้าปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทั้งสามกลุ่มธุรกิจของอินโดรามา เวนเจอร์ส นอกจากนี้ การเร่งโครงการขยายของกลุ่มธุรกิจ PET และกลุ่มธุรกิจ Fibers ในประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกา จะส่งผลให้ปริมาณการขายในปี 2567 เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
กลุ่มธุรกิจ Combined PET มี EBITDA เท่ากับ 146 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ท่ามกลางอัตรากำไร PET ที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นในตลาดตะวันตก และผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการระบาย สต๊อกสินค้า สำหรับกลุ่มธุรกิจ Integrated Oxides and Derivatives (IOD) มี EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เท่ากับ 119 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส โดยได้รับแรงหนุนจากอัตรากำไร MTBE ที่แข็งแกร่งในธุรกิจ Integrated Intermediates ส่วนความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Integrated Downstream ได้รับผลกระทบมาจากการระบายสต็อกสินค้า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และแรงกดดันด้านกำไรจากการนำเข้า ส่วนกลุ่มธุรกิจ Fibers มี EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 140 เท่ากับ 48 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส เนื่องจากปริมาณการขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์เพิ่มขึ้นในตลาดสำคัญในแถบเอเชีย และในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Mobility รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ Hygiene ซึ่งได้รับประโยชน์จากการที่ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการปรับโฟกัสขององค์กร
นายดีลิป กุมาร์ อากาวาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “ผมมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่าเรากำลังสร้างความคืบหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญในการดำเนินงานของทีมบริหารตามที่ได้แจ้งไว้ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งในระยะสั้นจะก่อให้เกิดกระแสเงินสดอิสระที่เป็นบวก ในขณะที่ระยะกลาง เราจะสานต่อความพยายามอย่างหนักในการรักษาต้นทุนให้อยู่ในควอไทล์แรก เพื่อให้เกิดความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น รองรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่สภาถาวะปกติในปี 2567 หลังจากที่อุตสาหกรรมเผชิญสภาพแวดล้อมที่ท้าทายในการดำเนินธุรกิจ ผมต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ระดับสินค้าคงคลังทั่วโลกยังไม่กลับเข้าสู่ระดับที่ดีที่สุด ซึ่งรวมถึงคลังสินค้าของเราเองด้วย เนื่องด้วยห่วงโซ่คุณค่าในกลุ่มธุรกิจของเราได้รับผลกระทบจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น เรากำลังปรับการดำเนินธุรกิจของเราทั่วโลกให้สามารถตอบสนองสภาวะอุปสงค์อุปทานและกระแสการค้าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถนำเสนอสินค้าที่น่าเชื่อถือและแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้สามารถนำเสนอโซลูชั่นเพื่อความยั่งยืนที่ดีที่สุด”